ตามธรรมเนียมแล้ว เราจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ค่าเงินจากสถาบันชั้นนำทางการเงินรอบโลกในช่วงขึ้นปีใหม่ เราทำแบบนี้มาสองปีแล้ว ดังนั้น เราจึงทำได้ทั้งคาดการณ์อนาคตในตอนนี้ และวิเคราะห์ด้วยเช่นกันว่าผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ได้ถูกต้องในอดีตหรือไม่
2020-2021: EUR/USD ในช่วงเวลาแห่งโควิด
เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ยังไม่มีการพูดถึงการแพร่ระบาดของโรคในเดือนนั้น แต่เป็นครั้งแรกที่มีรายงานการแพร่ระบาดครั้งแรกของโรค COVID-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ในตอนนั้นเอง Financial Times ก็เผยแพร่บทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ Citigroup ว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) โดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ และการอัดฉีดตลาดด้วยเงินดอลลาร์ที่มีมูลค่าถูกนั้นจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น สถานการณ์นี้ก็เริ่มเห็นผล ดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2020 ธนาคารเฟดเดินหน้าพิมพ์ธนบัตรอย่างเต็มกำลัง อัดฉีดตลาดสหรัฐฯ ด้วยเงินดอลลาร์ปริมาณมหาศาล โดยไม่มีแผนว่าจะจำกัดการกระตุ้นทางการเงิน หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด อัตราแลกเปลี่ยนของ EUR/USD อยู่ที่ 1.0630 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2020 และขึ้นปีใหม่ 2021 ที่ 1.2300
ราคาคู่นี้ขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงขึ้นปีใหม่ 2021 แต่แนวโน้มดังกล่าวก็กินเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ราคาขยับถึงระดับ 1.2350 เมื่อวันที่ 6 มกราคม และนี่เป็นราคาสูงสุดของปี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม และดอลลาร์เริ่มฟื้นขึ้น
ค่าเงินดอลลาร์ขยับเป็นคลื่นทั้งขึ้นและลงจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม โดยผันผวนตามสถานการณ์ของไวรัสโคโรนาและคำแถลงของผู้บริหารธนาคารเฟด แต่อารมณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากนโยบายสายพิราบเป็นสายเหยี่ยวก่อนช่วงฤดูร้อน เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นท่ามกลางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับที่ “แสนมืดมน” เป็น 0.25% ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมั่นคง และ EUR/USD จึงปิดท้ายปี 2021 ในโซน 1.1350 และติดลบรวมทั้งหมด 1,000 จุดในหนึ่งปี
2022: EUR/USD ในช่วงความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
แนวโน้มการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด (QT) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปช่วยให้นักลงทุนมีทัศนคติที่ดีต่ออนาคตของดอลลาร์สหรัฐ บทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญก็เป็นไปในทางบวกเช่นกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัวในอัตราที่ดี และมีตัวเลขคาดการณ์ GDP ที่ 5% ซึ่งช่วยให้ธนาคารเฟดสามารถต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างแข็งขัน การที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นไปอย่างน้อย 1.5% ภายในสิ้นปี 2023 เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว ความเชื่อมั่นว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อนั้นยังมาจากท่าทีของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งมีความสามารถในการรับมือกับราคาที่สูงขึ้นได้ดีกว่า
นักยุทธศาสตร์จากเครือธนาคารของเนเธอร์แลนด์ (Internationale Nederlanden Groep) ได้ทำนายว่า EUR/USD จะมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 1.1000 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2022 นักวิเคราะห์จากหนึ่งในเครือการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง HSBC (Hongkong and Shanghai Banking Corporation) ก็เห็นด้วยกับ ING เช่นกัน บทวิเคราะห์เขียนว่า “เหตุผลหลักของเรามาจากปัจจัยสองประการที่สนับสนุนดอลลาร์คือ 1. การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และ 2. การเปลี่ยนผ่านอย่างช้า ๆ ของธนาคารเฟดเพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย” นอกจากนี้ HSBC ยังพิจารณาด้วยว่า ธนาคารกลางยุโรปจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเงินยูโรจนกว่าจะถึงปลายปี 2022
ผู้เชี่ยวชาญจาก CIBC (Canadian Imperial Bank of Commerce) ก็เห็นด้วยกับดอลลาร์เช่นกัน โดยได้กำหนดเป้าหมายเดียวกันสำหรับ EUR/USD ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 คือที่ 1.1000 ส่วน JP Morgan ประเมินว่าแนวโน้มราคาคู่นี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1.1200
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกสถาบันทางการเงินเสมอไปที่เชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น มีธนาคารอย่าง Barclays Bank ที่ประเมินว่าดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินจริง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฯ ได้ทำนายแนวโน้มอ่อนค่าลงของดอลลาร์ เนื่องจากความต้องการในความเสี่ยงและสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบโลกและภาวะเงินเฟ้อที่สงบลง สถานการณ์ของ EUR/USD ในมุมมองของ Barclays เป็นไปดังนี้: Q1 2022 - ขึ้นไปที่ 1.1600, Q2 - 1.1800, Q3 และ Q4 เคลื่อนไหวเข้าสู่โซน 1.1900
สำนักข่าวรอยเตอร์สัมภาษณ์ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดบนวอลล์สตรีท และเผยแพร่การคาดการณ์แนวโน้มตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า นอกเหนือจากของ JP Morgan และ Barclays ผู้ให้คำสัมภาษณ์ยังเป็นผู้แทนจากเครือบริษัทใหญ่อย่าง Morgan Stanley, Goldman Sachs รวมถึงบริษัท Amundi ซึ่งเป็นบริษัทผู้บริหารจัดการสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป
Morgan Stanley เชื่อว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดจะดำเนินไปอย่างค่อนข้างราบรื่น ในขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ จะต้องเปลี่ยนจากนโยบายผ่อนคลายเป็นนโยบายที่คุมเข้มทางการเงิน ซึ่งน่าจะนำไปสู่มาตรการที่สอดคล้องกันของธนาคารกลางต่าง ๆ และสร้างแรงกดดันต่อดอลลาร์และดันราคา EUR/USD ขึ้นไปที่ 1.1800
นักยุทธศาสตร์จาก Goldman Sachs มองเป้าหมายไว้ที่ 1.1800 และ Amundi ระบุว่าธนาคารเฟด “ดำเนินการได้เพียงเล็กน้อยเพื่อสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด” แต่ก็ยอมรับว่าโมเมนตัมในตลาด “จะยังคงเป็นบวกในภาพรวมสำหรับดอลลาร์” นักยุทธศาสตร์ของบริษัทชี้ว่า EUR/USD น่าจะส่งท้ายปี 2022 ที่บริเวณ 1.1400
ตอนนี้ปลอดภัยที่จะกล่าวว่า นักวิเคราะห์จาก ING, HSBC, CIBC ได้ให้การคาดการณ์ที่ใกล้เคียงที่สุด และมีความเป็นไปได้ที่การคาดการณ์นี้อาจเป็นจริง 100% ได้ หรือบางทีคู่แข่งจาก Barclays, Morgan Stanley และ Goldman Sachs อาจทายได้ถูก แต่ถ้าเกิดโลกทั้งใบเคยกลับตาลปัตรเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในปี 2020 การเกิดขึ้นของสงครามในปี 2022 โดยการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ตามมาก็ได้นำมาซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจ มีภาวะขาดแคลนพลังงาน และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะมีที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากภูมิภาคนี้ก็ตาม
ที่ตั้งของประเทศยุโรปที่อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่ความขัดแย้ง และการพึ่งพาอาศัยแหล่งพลังงานของรัสเซีย และภัยคุกคามอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนความเสี่ยงของความขัดแย้งที่จะปะทุขึ้นและส่งแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั้งยูโรโซน บีบบังคับให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมากที่สุด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจล่มลงทั้งระบบ สหรัฐฯ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบมากกว่า ซึ่งช่วยให้ธนาคารเฟดไม่ใช่แค่เดินหน้าไปต่อ แต่ยังเร่งอัตราการบังคับใช้มาตรการลดสภาพคล่องทางการเงิน (QT) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย EUR/USD ขยับลงมาต่ำกว่าระดับคู่ขนานที่ 1.000 เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม และราคาทำระดับต่ำสุดที่ 0.9535 เมื่อวันที่ 28 กันยายน
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นคือ ความคาดหวังว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว สนับสนุนโดยคำแถลงและท่าทีของผู้บริหารธนาคารเฟด อัตราดอกเบี้ยนั้นเดิมอยู่ที่ 0.25% เมื่อวันที่ 15 มีนาคม (ช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัสเริ่มขึ้น) ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2022 จากนั้นก็มีการขึ้นดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐาน (bp) และขึ้นอีก 50 จุดตามมาด้วยการขึ้นอีก 75 จุดสี่ครั้งด้วยกัน ในเวลาต่อมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ค่อย ๆ ชะลอมาตรการและขึ้นดอกเบี้ยเพียง 50 จุดในที่ประชุมครั้งล่าสุดในปี 2022 หลังจากดอกเบี้ยขึ้นมาที่ 4.50%
ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00% เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ถูกบีบให้ต้องเริ่มคุมเข้มนโยบายทางการเงินตามธนาคารเฟด ธนาคารกลางยุโรปขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เป็น 1.25% เมื่อวันที่ 8 กันยายน และเป็น 2.00% เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม และสุดท้ายขึ้นเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม
การที่ธนาคารกลางยุโรปเริ่มใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นนั้นส่งผลดีต่อยูโร การที่ยุโรปสามารถสำรองน้ำมันและก๊าซไว้อย่างเต็มพิกัดก่อนฤดูหนาวและหาวิธีที่จะทดแทนแหล่งพลังงานของรัสเซียก็ส่งผลดีต่อค่าเงินยูโรเช่นกัน ทำให้ EUR/USD ขยับขึ้นมาอีกครั้งเหนือระดับ 1.0000 และขยับถึงระดับสูงสุดที่ 1.0735 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม
***
ดังนั้น ค่าเงินยูโรจึงอ่อนค่าลดลง 2,815 จุดเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2021 ถึง 28 กันยายน 2022 จากนั้นยูโรก็จู่โจมกลับและชนะกลับคืนมาได้ 1,200 จุดภายในสิ้นปี หรือขึ้นมาจากติดลบไปได้ถึง 40% ในอีกหนึ่งสัปดาห์เราจะมาอธิบายให้คุณทราบว่าผู้เชี่ยวชาญชั้นนำคาดหวังอะไรกับค่าเงินสองสกุลนี้ในปี 2023 ในบทวิเคราะห์ฉบับหน้าของเรา
ในระหว่างนี้ เราขออวยพรให้คุณและคนที่คุณรักประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เจริญรุ่งเรือง สุขภาพแข็งแรง และสมปรารถนาทุกประการ และขอให้ปีที่จะถึงนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวดี ๆ สวัสดีปีใหม่!
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ