ควรคาดหวังอะไรจากดอลลาร์และยูโรในปี 2023

ในสัปดาห์ที่แล้ว เราได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสกุลเงินที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสองอันดับแรกในช่วงปี 2020-2022 รวมถึงบทวิเคราะห์คาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญของสถาบันการเงินชั้นนำสำหรับคู่เงิน EUR/USD และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะมาอธิบายให้ทราบกันว่าผู้เชี่ยวชาญคาดหวังอะไรในปี 2023

 

สิ่งที่ควรให้ความสนใจก็คือ บทวิเคราะห์คาดการณ์เหล่านี้มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ชีวิตนำพา “เรื่องน่าประหลาดใจ” มากมายในช่วงปีที่ผ่านมา และทิ้งปัญหาให้เรารอแก้ไขไว้มากมายเช่นกันในอนาคต

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร นโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเป็นไปในทิศทางใด จะเกิดอะไรขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตลาดแรงงาน และเราจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อและรับมือกับราคาพลังงานได้หรือไม่? เรายังไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้และคำถามอื่น ๆ ได้ ความไม่แน่นอนมีอยู่มาก ซึ่งส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นเสียงเดียวกันได้

บางคนเชื่อว่า EUR/USD จะขยับถึงราคาต่ำสุดของปี 2000-2002 ที่บริเวณ 0.8500 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นเชื่อว่าราคาจะเร่งตัวไปที่ 1.6000 เหมือนกับเมื่อปี 2008 แน่นอนว่านี่เป็นตัวเลขที่สุดโต่งอย่างมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาจะขยับไม่ถึงราคาสุดขั้วแรกหรือราคาที่สองดังกล่าว และกรอบการวิ่งของราคาน่าจะแคบกว่านี้ แต่อย่างน้อยนี่เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเราจะนำเสนอบทวิเคราะห์ให้คุณได้อ่านกัน

 

ฝั่งกระทิงพูดอะไรถึง EUR/USD

นักยุทธศาสตร์ Deutsche Bank สันนิษฐานว่า ราคาคู่นี้จะกลับสู่ราคาเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมปี 2022 ในปี 2023 (เป็นกรอบความผันผวนระยะสองเดือนที่ 1.0800-1.1500) พวกเขามองว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นแม้ว่าสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจะไม่พัฒนาดีขึ้น และราคาจะคงตัวที่ระดับครึ่งหลังของปี 2022 อย่างไรก็ดี พวกเขามองว่า การอ่อนค่าลงของดอลลาร์จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อธนาคารเฟดเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

และนี่คือสิ่งที่อาจจะไม่เกิดขึ้น เดิมก่อนหน้านี้ Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดกล่าวในงานแถลงข่าวหลังการประชุมของคณะกรรมการ FOMC เดือนธันวาคม (คณะกรรมการตลาดเสรีของสหรัฐฯ) ว่า ธนาคารเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดไปจนกว่าจะมั่นใจว่า ภาวะเงินเฟ้อจะลดลงมาทำแนวโน้มที่คงตัว อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอาจขึ้นไปถึง 5.1% ในปี 2023 และคงตัวเลขระดับสูงไปจนถึงปี 2024 (ทั้งนี้ ในรายงานเดือนกันยายนระบุว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 4.6%) และนาย Jerome Powell กล่าวว่า ธนาคารเฟดเข้าใจดีว่าสิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ยินยอมที่จะแลกเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ท่าทีของธนาคารกลางยุโรปเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้หยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย สหประชาชาติเชื่อว่า การเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประสบความยากลำบากจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ อยู่แล้ว

นอกเหนือจากการเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารเฟด ยังมีอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความสมดุลและกดดอลลาร์ให้อ่อนค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอื่น ๆ อีกหลายแห่งได้สาธิตให้เห็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ อย่างที่เราเคยเขียนไว้ในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้วว่า ค่าเงินยูโรทำสำเร็จในการกดดันค่าเงินดอลลาร์ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2022 และดันคู่เงิน EUR/USD ขึ้นไปประมาณ 1,200 จุด

Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม และกล่าวอย่างชัดเจนว่า มาตรการลดสภาพคล่องในระบบ (QT) ในยูโรโซนจะไม่สิ้นสุดแค่นั้น อัตราดอกเบี้ยของยูโรจะต้องมีการปรับขึ้นอีกหลายครั้งในปี 2023 ธนาคารกลางยุโรปยังวางแผนด้วยที่จะเริ่มลดงบดุลตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

สำหรับช่วงเริ่มต้นปี 2023 ค่าความต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์และยูโรอยู่ที่ 200 จุดพื้นฐาน (4.5% และ 2.5% ตามลำดับ) ตลาดสวอปคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 100 จุดพื้นฐานในปีที่จะถึงนี้ ซึ่งจะช่วยเสริมแรงหนุนให้กับคู่ EUR/USD

นักเศรษฐศาสตร์ที่ Bank of America Global Research เห็นด้วยกับพัฒนาการดังกล่าว “ตามสถานการณ์เส้นฐานที่เราประเมิน ดอลลาร์สหรัฐจะยังคงแข็งแกร่งในช่วงต้นปี 2023 และจะเปลี่ยนไปยังแนวโน้มขาลงที่มั่นคงมากขึ้นหลังากการหยุดพักของธนาคารเฟด” โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 BofA มองว่าดอลลาร์จะค่อย ๆ อ่อนค่า และ EUR/USD จะขยับขึ้นไปที่ 1.1000

ธนาคาร Commerzbank จากเยอรมนีเห็นด้วยกับความเห็นนี้ “เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดตามความคาดหมายและในกรณีที่ธนาคารกลางยุโรปหลีกเลี่ยงการหั่นอัตราดอกเบี้ยได้สำเร็จ ราคาเป้าหมายของเราสำหรับ EUR/USD ในปี 2023 คือ 1.1000” ทำนายโดยนักเศรษฐศาสตร์จากเครือธนาคารนี้

Societe Generale เครือบริษัททางการเงินจากฝรั่งเศสโหวตว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าและคู่นี้จะขยับสูงขึ้นเช่นกัน “เราคาดว่าค่าความต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรชุด 10 ปีของสหรัฐฯ และของเยอรมนีจะลดลงจาก 180 จุดพื้นฐานเหลือ 115 จุดพื้นฐานภายในปลายไตรมาสที่ 1 และค่าความต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย 2 ปี จะลดลงจาก 190 จุดพื้นฐานเหลือไม่เกิน 1% ครั้งสุดท้ายที่เราเห็นค่าความต่างดังกล่าวระหว่างอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทน คู่ EUR/USD อยู่เหนือระดับ 1.1500 และนี่คือระดับที่มันจะอยู่ภายในไตรมาสที่ 1 หากมันยังคงขยับขึ้นในอัตราเดียวกันกับที่มันเคยขยับถึง 0.9500 ภายในสิ้นเดือนกันยายน" กล่าวโดย Kit Juckes หัวหน้านักยุทธศาสตร์ FX ของ SocGen

 

ฝั่งหมีพูดอะไรถึง EUR/USD

นักวิเคราะห์จากหน่วยงานการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ (Economic Forecasting Agency) คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นไปที่ 1.1160 ในปีหน้านี้ แต่พวกเขามีความเห็นว่า ราคาจะขยับลดลงอย่างราบรื่นและมั่นคง โดยลงมาถึง 1.0430 ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ถึง 1.0050 ในปลายไตรมาสที่ 3 และจะปิดท้ายปีที่ 0.9790

นักเศรษฐศาสตร์ที่ Internationale Nederlanden Groep ให้มุมมองที่สุดโต่งกว่านั้น ING เชื่อมั่นว่า แรงกดดันทั้งหมดของปี 2022 จะยังคงอยู่ในปี 2023 ราคาน้ำมันที่สูงจะยังเป็นแรงกดดันหลักต่อเศรษฐกิจยุโรป แรงกดดันเสริมอาจขึ้นอยู่กับว่า ธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะระงับการพิมพ์ธนบัตรก่อนธนาคารกลางยุโรปหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์จากเครือธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์แห่งนี้เชื่อว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ 0.9500 ต่อดอลลาร์จะเพียงพอในไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ซึ่งอาจขึ้นไปที่ระดับคู่ขนานคือ 1.0000 ในไตรมาสที่ 4

ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านก็สนับสนุนค่าเงินดอลลาร์เช่นกัน Dave Schabes จาก University of Chicago's Harris School of Public Policy เชื่อว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นภัยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวทั่วยุโรป และทำให้วิกฤติพลังงานยืดเยื้อในภูมิภาคนี้ไปจนถึงปี 2023 หรือแม้แต่ปี 2024 นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้มองว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ “สหรัฐฯ ถือว่าเป็นสกุลเงินหลบภัยอันดับหนึ่งของโลกในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองหรือการทหาร” เขากล่าว

Eric Donovan หัวหน้าสถาบัน FX ที่ StoneX บริษัทด้านบริการทางการเงินให้มุมมองเดียวกัน “เหตุผลหลักที่ดอลลาร์แข็งค่ามากเป็นเพราะว่า มันยังคงถูกมองว่าเป็นสกุลเงินหลบภัย และจะแข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดอยู่ในภาวะความกลัว” เขาอธิบาย ดังนั้น ดอลลาร์จะคงความแข็งแกร่งเทียบกับยูโรได้ต่อเนื่องตราบใดที่สงครามนี้ยังคงไม่ยุติ

***

ปี 2022 ที่ผ่านมาไม่ใช่ปีที่เรียบง่าย การระบาดของไวรัสโคโรนาได้สร้างหลายปัญหา อีกทั้งยังถาโถมด้วยเหตุการณ์ที่น่าสลดในยูเครน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจรอบโลก อย่างไรก็ตาม อย่างที่กษัตริย์โซโลมอนในตำนานเคยตรัสกับกษัตริย์แห่งเอธิโอเปียเอาไว้ว่า “เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป” และเราก็อยากจะเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา