EUR/USD: ความนิ่งสงบก่อนพายุ
- ดัชนีดอลลาร์ (DXY) หรืออัตราส่วนของ USD ต่อสกุลเงินต่างประเทศหลักหกสกุลขยับในกรอบด้านข้างที่ค่อนข้างแคบมาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม ความผันผวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการประกาศตัวเลขสถิติการค้าในสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ 18 มกราคม อย่างไรก็ดี ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว และดัชนี DXY ได้ขยับไปยังด้านข้างอีกครั้งในกรอบ 102.00-102.50 คู่ EUR/USD มีพฤติกรรมที่คล้ายกัน โดยเริ่มต้นวันจันทร์ที่ 1.0833 และปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่บริเวณ 1.0855
พฤติกรรมนี้ชี้ให้เห็นว่า ตลาดได้เก็งทุกอย่างไว้ในราคาอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ราคาจะพุ่งขึ้นอีกได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเป็นการประชุมของ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ รวมถึงการแถลงความเห็นของผู้บริหารของธนาคารเฟดที่ตามมา สำหรับเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญมีแค่เพียงสถิติ GDP สหรัฐฯ เท่านั้น โดยดัชนีจะประกาศให้ทราบในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และมีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัว (ตัวเลขคาดการณ์ที่ 2.6-2.8% จาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้านี้)
ผู้ร่วมตลาดยังคงสงสัยต่อเนื่องว่าดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นเท่าใดในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ของ FOMC โดยมีทางเลือกสองทางด้วยกันคือ 25 หรือ 50 จุดพื้นฐาน (bp) Michelle Bowman กรรมการบริหาร Mary Dehli ประธานธนาคารเฟดสาขาซานฟรานซิสโก (FRB) และ Patrick Harker ประธานธนาคารเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียได้พูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 25 จุด ด้าน Lael Brainard รองประธานธนาคารเฟดไม่ได้แสดงความเห็นที่ชัดเจนถึงทางเลือกใด ๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ที่ผ่านมา เธอไม่ได้พูดถึงระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 เช่นกัน อย่างไรก็ดี เธอได้กล่าวว่านโยบายของธนาคารกลางควรมีความเข้มงวดต่อไปเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสู่ระดับเป้าหมายที่ 2.0%
คำพูดของเธอตรงกับความเห็นของ Jerome Powell ประธานธนาคารเฟด ผู้เคยกล่าวไว้เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดไปจนกว่าจะมั่นใจได้ว่า แนวโน้มที่ลดลงในภาวะเงินเฟ้อเป็นแนวโน้มที่ยั่งยืน เขามีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในปี 2023 และคงตัวในระดับสูงไปจนถึงปี 2024
ตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่เห็นตรงกันในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 5.10% แต่ตอนนี้ตลาดหยุดเชื่อใจธนาคารเฟดแล้ว และตัวเลขคาดการณ์ก็ลดลงมาเหลือ 4.9% และนักวิเคราะห์บางท่านเชื่อว่าระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยจะไม่เกิน 4.75% และอาจจะถูกปรับลดลงมาที่ 4.50% ภายในปลายปี 2023 อีกด้วย ทั้งนี้ ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยถูกปรับเป็น 4.50% แล้ว ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลดีต่อดอลลาร์อย่างแน่นอน แต่จะยิ่งช่วยผลักดันค่าเงินคู่แข่งในดัชนี DXY และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
สำหรับค่าเงินฝั่งยุโรป ตลาดสวอปเชื่อ 100% ว่าอัตราดอกเบี้ยของ ECB จะปรับขึ้นเป็น 50 จุดพื้นฐานภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และมีความเป็นไปได้ 70% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนี้ในเดือนมีนาคมเช่นกัน
Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปได้กล่าวแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคมที่งานการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาโวส (สวิตเซอร์แลนด์) เธอเน้นย้ำว่าภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ดังนั้น ธนาคารกลางยุโรปจะไม่หยุดยั้งความพยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ Klaas Knot กรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปและผู้ว่าการธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีเช่นกันว่า สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ และตลาดคิดผิดถ้าจะคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยแค่เพียง 50 จุดพื้นฐานในอนาคต เพราะจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะดังกล่าวอีกหลายครั้ง
คำพูดเหล่านี้ส่งผลให้เงินยูโรมีความหวังมากขึ้น แต่ก็มีเจ้าหน้าที่จากฝั่งยุโรปบางรายที่สงวนท่าทีมากกว่า เช่น Francois Villeroy ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส เขากล่าวในงานประชุมที่ดาโวสนี้ว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และคำพูดของเขาก็ส่งผลให้เกิดข่าวลือว่า ธนาคาร ECB พร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐาน
ชัดเจนว่าอนาคตของ EUR/USD จะถูกตัดสินในช่วงวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์ 40% กำลังคาดหวังว่ายูโรจะแข็งค่าขึ้นต่อไป และคู่เงินนี้จะขยับขึ้นในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า 50% คาดว่าค่าเงินดอลลาร์อาจจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน ส่วนผู้เชี่ยวชาญ 10% ที่เหลือยังคงรอดูผลการประชุมระหว่าง Fed และ ECB ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพรวมที่แตกต่างกันไป โดยอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ให้สัญญาณสีเขียว ด้านออสซิลเลเตอร์มี 65% เป็นสีเขียว และ 20% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought (มีแรงซื้อมากเกินไป) และ 15% ที่เหลือให้สัญญาณสีเทากลาง ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้คือ 1.0800 ตามมาด้วยระดับและโซน ได้แก่ 1.0740-1.0775, 1.0700, 1.0620-1.0680, 1.0560 และ 1.0480-1.0500 ส่วนด้านฝั่งกระทิงจะต้องเจอแนวต้านที่ระดับ 1.0865, 1.0935, 1.0985-1.1010, 1.1130 หลังจากนั้นจึงจะต้องพยายามขึ้นไปยืนเหนือกรอบ 1.1260-1.1360
จีนกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนในสัปดาห์หน้า เราขออวยพรสุขสันต์วันตรุษจีนให้กับนักเทรดชาวจีนทุกท่าน ในส่วนของสหรัฐฯ และยูโรโซนมีกิจกรรมสำคัญที่จะต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ประธาน ECB Christine Lagarde จะกล่าวแถลงในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม ในวันถัดมาจะมีการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI และ S&P Global) ในภาคการผลิตของเยอรมนีและยูโรโซน เราจะได้ทราบตัวเลขดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (IFO) ในเยอรมนีในวันพุธที่ 25 มกราคม ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดีนี้ รวมถึงสถิติอีกหลายชุดจากตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงาน ส่วนดัชนีการใช้จ่ายของครัวเรือนสหรัฐฯ ว่าด้วยการบริโภคส่วนบุคคลนั้นจะประกาศให้ทราบในท้ายสัปดาห์คือวันศุกร์ที่ 27 มกราคม
GBP/USD: เงินปอนด์พึ่งพาสิ่งที่ดีที่สุด
- เช่นเดียวกันกับในสหรัฐฯ สถิติค้าปลีกในสหราชอาณาจักรลดลงเช่นกันที่ -1% (MoM) ในเดือนธันวาคม ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ +0.5% อยู่มาก นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายจริงของประเทศนั้นสูงกว่าค่า GDP ในปี 2020-2022 เป็นอย่างมาก แต่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้กระบวนการนี้ชะลอตัว และทำนายว่าปี 2023 จะเป็นระยะเวลารับผลกรรมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC หนึ่งในเครือบริษัทด้านการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของโลกมองว่าสถานการณ์ไม่เลวร้ายขนาดนั้น “เนื่องจากจุดที่เงินเฟ้อสูงสุดสหราชอาณาจักรน่าจะผ่านไปแล้วและจะชะลอตัวมากกว่าคำคาดการณ์โดยรวม ดังนั้นท่าทีที่ดุดันลดลงจากธนาคารกลางอังกฤษในเวลานี้อาจหมายถึง ผลที่ตามมาที่รุนแรงน้อยลงในปีนี และสิ่งนี้อาจกลายเป็นปัจจัยเชิงบวกแม้เพียงเล็กน้อยสำหรับเงินปอนด์ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าได้ การเปลี่ยนผ่านไปยังสถิติในประเทศที่ดูดีกว่าที่คาดการณ์ไว้น่าจะเป็นผลดีต่อเงินปอนด์” สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าว เนื่องด้วยค่าเงินที่ถูกลงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงกล่าวได้ว่า ดุลการค้าของสหราชอาณาจักรในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วแสดงถึงการขาดดุลที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 HSBC เชื่อเช่นกันว่า การเติบโตของความต้องการในความเสี่ยงในตลาดโลกจะส่งผลดีต่อค่าเงินปอนด์ด้วยเช่นกัน
เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวโน้มคงที่ของ EUR/USD โดย GBP/USD ทำระดับสูงสุดในเดือนธันวาคมเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ 1.2435 โดยฝั่งกระทิงได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะเดินหน้าเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการเข้มงวดทางการเงิน โดยทำนายว่าอัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% จากระดับปัจจุบันที่ 3.5% ภายในฤดูร้อน และวันสำคัญสำหรับเส้นทางนี้คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่มีกำหนดการประชุมครั้งถัดไปของ BoE
ราคาปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่บริเวณ 1.2395 ส่วนการคาดการณ์กลางของ GBP/USD ในอนาคตอันใกล้มีดังนี้: ผู้เชี่ยวชาญ 50% เชื่อว่าถึงเวลาที่เงินปอนด์จะต้องชะลอการเติบโต และรอให้มีการปรับฐานลงไปยังทิศใต้ ส่วนผู้เชี่ยวชาญเพียง 15% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับฝั่งกระทิง และ 35% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 85% ที่ให้สัญญาณสีเขียว 15% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ให้ผลลัพธ์สีเขียว ด้านระดับและโซนแนวรับของคู่นี้คือ 1.2330, 1.2250-1.2270, 1.2200-1.2210, 1.2145, 1.2085-1.2115, 1.2025, 1.1960, 1.1900, 1.1800-1.1840 และในกรณีที่ราคาขึ้นไปยังทิศเหนือ จะต้องเจอกับระดับแนวต้านที่ 1.2435-1.2450, 1.2510, 1.2575-1.2610, 1.2700, 1.2750 และ 1.2940
ไฮไลต์สำคัญของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้คือ วันอังคารที่ 24 มกราคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI)
USD/JPY: ภาพรวมเงินเยนดูดีเช่นกัน
- แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับติดลบ -0.1% ในการประชุมวันที่ 18 มกราคม เงินเยนยังคงเป็นสินทรัพย์โปรดในบรรดาสกุลเงิน DXY USD/JPY ทำระดับต่ำสุดที่ 127.21 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และยังไม่เคยขยับลงมาต่ำขนาดนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางแนวโน้มที่อ่อนค่าลงของดอลลาร์และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ลดลง (ค่าสเปรดของสหรัฐฯ/ญี่ปุ่นทำระดับต่ำสุดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2022)
อย่างไรก็ดี ราคาคู่นี้ปรับฐานขึ้นไปยังทิศเหนือและปิดที่ 129.57 ในช่วงปลายสัปดาห์ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า สถิติการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อในประเทศจะยังคงบีบบังคับให้ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) ต้องคุมเข้มนโยบายทางการเงินในที่สุด
โดยรวมแล้ว ภาวะเงินเฟ้อในประเทศในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 4.0% (y/y) ซึ่งเร่งตัวขึ้นมาจาก 3.8% ในเดือนพฤศจิกายน ตัวเลขเหล่านี้เป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 1991 ซึ่งราคาสินค้าผู้บริโภคในญี่ปุ่น ยกเว้นอาหารสด (ตัวชี้วัดหลักที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นติดตาม) ขยับขึ้นมาถึง 4.0% ในเดือนที่แล้วเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และถือว่าเป็นแนวโน้มสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 1981 ตัวชี้วัดดังกล่าวสูงกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของ BoJ เป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกัน
ตลาดคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในนโยบายทางการเงินหลังวันที่ 8 เมษายนเป็นต้นไป ซึ่งวันดังกล่าวนั้น Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจะหมดวาระดำรงตำแหน่ง และอาจถูกแทนที่ด้วยผู้ว่าการคนใหม่ที่มีท่าทีเข้มงวดกว่า Fumio Kishida นายกรัฐมนตรีคาดว่าจะแต่งตั้งผู้รับหน้าที่คนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง Kuroda จะจัดการประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 มีนาคม และการประชุมครั้งถัดไปของ BoJ ในวันที่ 28 เมษายน จะจัดขึ้นโดยประธานธนาคารกลางคนใหม่
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของธนาคารกลางยุโรปยังรวมถึงสถานการณ์ดุลการชำระเงินที่ดีขึ้นของญี่ปุ่น เนื่องด้วยเงินเยนที่อ่อนค่าและการกลับมาฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเงินในฐานะสินทรัพย์หลบภัยและเครื่องประกันความเสี่ยงของนักลงทุนในการลงทุนต่างประเทศ นักเศรษฐศาสตร์จาก Danske Bank คาดว่า USD/JPY จะตกลงมาต่ำกว่า 125.00 ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และนักยุทธศาสตร์จาก Nordea เครือการเงินระหว่างประเทศชี้ว่า คู่นี้อาจขยับลงมาต่ำกว่า 120.00 ได้ภายในสิ้นปี 2023
ตัวเลขคาดการณ์กลางของนักวิเคราะห์ก็ตรงกันกับการคาดการณ์ของ Danske Bank และ Nordea เช่นกัน พวกเขามีความเห็นว่าในอนาคตอันใกล้ USD/JPY จะมีทิศทางแตกต่างกันไปดังนี้: 75% โหวตว่าราคาจะลดลงต่อไป ส่วน 25% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ไม่มีคะแนนเสียงใดโหวตว่าราคาจะขยับขึ้นในครั้งนี้ ส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 10% ชี้ขึ้นทิศเหนือ 75% ชี้ลงทิศใต้ และ 15% ชี้ออกด้านข้าง สำหรับอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 15% ชี้ไปยังทิศเหนือ 85% ชี้ลงทิศใต้ และระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 129.30 ตามมาด้วยระดับและโซน ได้แก่ 128.90, 127.75-128.00, 127.00-127.25, 126.35-126.55, 125.00, 121.65-121.85 ด้านระดับและแนวต้าน ได้แก่ 130.45, 131.25, 132.00, 132.80, 133.60, 134.40 และจากนั้นคือ 137.50
ในบรรดากิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่น ซึ่งจะเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ 23 มกราคมนี้
คริปโตเคอเรนซี: ชัยชนะของบิทคอยน์เหนือเอไอ
- หากคุณดูกราฟสัปดาห์ที่แล้ว คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของฝั่งกระทิงแทบจะเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ บิทคอยน์เจอแรงซื้อขนานใหญ่ตั้งแต่ช่วงวันที่ 9 ถึง 14 มกราคม ในช่วงการประกาศสถิติเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ที่ลดลง อีกหนึ่งปัจจัยหนุนของตลาดกระทิงคือข่าวที่ผู้ชำระบัญชี FTX ตรวจพบสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมูลค่า $5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งผู้สนับสนุนบิทคอยน์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า ข่าวนี้จะช่วยให้ตลาดคริปโตไม่กังวลเกี่ยวกับภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาคมากเกินไป ซึ่งยังคงเป็นแนวโน้มตลาดหมีอยู่
แต่มีความเป็นไปได้สูงที่คำกล่าวสุดท้ายนี้จะไม่ถูกต้อง และเรายังคงมีเรื่องให้ต้องกังวล การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผลมาจากความต้องการสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงโดยรวมของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเห็นได้โดยการเปรียบเทียบราคา BTC/USD และดัชนีหุ้นที่ S&P500, Dow Jones และ Nasdaq และถึงแม้บิทคอยน์จะกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักในกรณีนี้ มันก็เป็นผลมาจากความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น และเราก็เคยเขียนไว้ซ้ำหลายครั้งเช่นกันว่า ปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของทั้งตลาดหุ้นและตลาดคริปโตในสถานการณ์นี้คือนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์
ราคาบิทคอยน์ขยับขึ้นมามากกว่า 37% ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 18 มกราคม 2023 โดยทำระดับสูงสุดที่ $22,715 ในส่วนของมูลค่ารวมในตลาดคริปโตทั้งหมดสูงกว่า $1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในระยะเวลายาวนาน กระแสความกะตือรือร้นของผู้เล่นในตลาดทำให้ปริมาณการเทรด BTC เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในเวลาหนึ่งสัปดาห์: ตัวเลขเพิ่มขึ้นมา $11 พันล้านดอลลาร์ในตลาดสปอต แต่ Craig Erlam นักวิเคราะห์มองว่ายังไม่มีปัจจัยพื้นฐานเฉพาะเจาะจงให้แนวโน้มกระทิงพัฒนาต่อไปในตอนนี้
การเติบโตของตลาดในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคมกลายเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับตลาดหมี สถิติชี้ว่า ตลาดหมีสูญเสียเงินไปประมาณ $1.2 พันล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้วสัปดาห์เดียว และนี่พูดถึงแค่ BTC เท่านั้น ปริมาณคำสั่งขาย (short) ที่ถูกล้างหรือกำจัดไปนั้นเกินกว่าคำสั่งซื้อ (long) ถึงหกเท่า ณ จุดหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยมีราคาที่นักลงทุนรายย่อยและขนาดกลางต้องจ่าย จำนวนแอดเดรสบิทคอยน์ที่มีบรรจุเงินไม่เกิน $1,000 BTC เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่นักลงทุนกลุ่มวาฬรายสถาบัน (ที่ถือเงินไว้มากกว่า 1000 BTC) ไม่ได้มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และได้แต่เฝ้าดูความฮือฮาของนักลงทุนกลุ่มกุ้งอย่างเงียบ ๆ ทั้งนี้ กระแสเงินบิทคอยน์ที่ไหลเข้ามามีเพียง $10 ล้านดอลลาร์เท่านั้นตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม และจำนวนกระเป๋าเงินของนักลงทุนกลุ่มวาฬยังคงลดลงต่อเนื่อง
เราเคยเขียนให้ทราบแล้วหลายครั้งว่า นักลงทุนรายสถาบันหลายรายยังไม่กล้าเข้ามามีบทบาทในตลาดคริปโตเนื่องด้วยปัญหาการขาดกฎกำกับดูแลที่เพียงพอ และในขณะนี้ สภาคองเกรสได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ แต่ Kevin O'Leary ประธานบริษัท O'Leary Ventures และพิธีกรรายการทีวี Shark Tank เชื่อว่า การใช้กรอบการทำงานที่กำกับดูแลคริปโตจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการฉ้อโกงได้ เขาเชื่อว่าจะมีบริษัทคริปโตและตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตที่ล้มละลายเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพราะความไม่รู้ของคนตามมุมมองของเขา
ตอนนี้เราจะมาพูดถึงการคาดการณ์เป็นตัวเลขกัน Ben Armstrong ยูทูบเบอร์ด้านคริปโตเคอเรนซีชื่อดังเชื่อว่า ราคาบิทคอยน์จะกระโดดไปที่ $30,000 ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์และนักลงทุน Ali Martinez ไม่เห็นด้วย เขามองว่า นักขุดเหรียญพากันขายสินทรัพย์เพื่อเก็บกำไร
Peter Brandt ตำนานนักเทรดและนักวิเคราะห์หุ้นผู้เคยทำนายการปรับฐานของบิทคอยน์เมื่อปี 2018 ได้อย่างถูกต้อง ได้ให้คำคาดการณ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของบิทคอยน์ในระยะสั้นและระยะยาว
นักวิเคราะห์ท่านนี้มองว่า BTC จะสามารถทำราคาขึ้นไปใกล้ $25,000 ได้ในอนาคตอันใกล้ หลังจากนั้นการปรับฐานจะเกิดขึ้นภายในปลายฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะให้พลังให้บิทคอยน์ทะยานขึ้นไปรอบใหม่ได้ ดังนั้น เหรียญจะขยับขึ้นไปยังระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ที่บริเวณ $68,000 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 หลังจากนั้นจะเกิดการปรับฐานขึ้น และราคาอาจทำระดับสูงสุดใหม่ตามมาได้
Peter Brandt ไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์จะขยับขึ้นไปที่ $150,000 ภายในต้นปี 2025 อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่านี่เป็นเพียงการคาดเดา ไม่มีใครรู้ว่าบิทคอยน์จะมีพฤติกรรมอย่างไรกันแน่ตามความเห็นของนักเทรดท่านนี้
มูลค่าของบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นเป็น $50,000-100,000 ในช่วงสองหรือสามปีข้างหน้า นี่เป็นความเห็นจากบทสัมภาษณ์กับ CNBC โดยผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ SkyBridge Capital นาย Anthony Scaramucci โดยนักธุรกิจรายนี้เรียกปี 2023 ว่าเป็น “ปีแห่งการฟื้นตัว” สำหรับบิทคอยน์ แน่นอนว่าการตัดสินใจของธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของทองคำดิจิทัล และหากธนาคารกลางดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงกลางปีนี้ นี่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ดีให้ราคาบิทคอยน์ขยับขึ้น แล้วธนาคารเฟดจะดำเนินมาตรการหรือไม่?
Mike McGlone นักยุทธศาสตร์อาวุโสจาก Bloomberg Intelligence เห็นด้วยว่าจุดต่ำสุดในตลาดคริปโตได้ผ่านไปแล้ว แต่ความเห็นของเขาต่อนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดแตกต่างไปจากนักวิเคราะห์ท่านอื่น
McGlone เน้นย้ำว่า กราฟในขณะนี้คล้ายกันกับพฤติกรรมราคาปี 2018 เมื่อราคาบิทคอยน์ฟื้นตัวจาก $5,000 แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้การเติบโตของบิทคอยน์จึงอาจหยุดที่ราคาปัจจุบัน ดัชนี NASDAQ จึงอาจขยับลง และความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์และตลาดหุ้นก็ค่อนข้างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เรากำลังถอนสภาพคล่องออกจากตลาดโลก และมันก็มีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ และถึงแม้ว่าสินทรัพย์ตลาดทุนหรือสินทรัพย์ความเสี่ยงอื่น ๆ จะขยับขึ้น สภาพคล่องยังคงถูกจำกัดโดยธนาคารกลาง ความแตกต่างสำคัญจากปี 2018 คือ ธนาคารเฟดได้เริ่มผ่อนคลายนโยบายแล้วในตอนนั้น และเรายังไม่เห็นการผ่อนคลายใด ๆ ในขณะนี้” นักยุทธศาสตร์ Bloomberg กล่าวอธิบาย
“ดูที่ NASDAQ สิ กราฟกำลังตัดทะลุเส้น SMA รอบ 200 สัปดาห์ ซึ่งมันเกิดขึ้นแค่เพียง 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ และธนาคารเฟดก็ต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเสมอ แต่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ กำลังเพิ่มความเข้มงวดอย่างดุดันในขณะนี้ ภาพรวมยังคงเป็นบวกสำหรับบิทคอยน์ แต่สถานการณ์นั้นไม่อาจคาดเดาได้ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้” McGlone กล่าว
Peter Brand ยอมรับด้วยว่า การพยากรณ์พฤติกรรมราคาบิทคอยน์ได้อย่างถูกต้องนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ของแพลตฟอร์มทดสอบ ChatGPT เห็นด้วยกับความเห็นของเขา ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาเนื่องด้วยความสามารถในการแก้โจทย์และตอบคำถามอย่างมีความแม่นยำสูง รวมถึงการเทรดสินทรัพย์
ผู้เชี่ยวชาญจาก Finbold ถามเอไอตัวนี้ว่า ราคาบิทคอยน์ในปี 2030 จะเท่ากับเท่าใด Finbold ชี้ว่า ChatGBP น่าจะสามารถให้ตัวเลขคาดการณ์ที่ค่อนข้างแม่นยำได้เนื่องด้วยสถิติราคา BTC ในอดีต รวมถึงข้อมูลตลาด การวิเคราะห์เชิงเทคนิคและปัจจัยพื้นฐาน และตัวชี้วัดอื่น ๆ แต่เอไอก็ไม่ได้ทำตามความคาดหมาย มันไม่สามารถทำนายราคาตรง ๆ ได้ และยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะบอกราคาเหรียญในระยะยาว เอไออ้างอิงความผันผวนที่สูงในตลาดและกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนเป็นสาเหตุ อย่างไรก็ดี เอไอเช่นเดียวกันกับ Peter Brandt เชื่อว่า บิทคอยน์มีศักยภาพในการเติบโตในหลายปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นไปได้เนื่องด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี ตลาดคริปโตที่สุกงอม และการกระจายเป็นวงกว้าง
อนาคตตลาดดิจิทัลยังมีความกำกวมอยู่ก็จริง แต่เราสามารถบอกได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดย ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 20 มกราคม) BTC/USD ซื้อขายอยู่ในโซน $22,700 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.038 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.968 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับออกจากโซนความกลัว (Fear) แล้วและขณะนี้อยู่ในโซนปานกลาง (Neutral) ที่คะแนน 51 จุด (46 เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ