EUR/USD: เงินเฟ้อที่ดื้อดึงไม่ยอมผ่อนลง
● ผู้เล่นในตลาดในสัปดาห์ที่แล้วตั้งตารอสถิติเงินเฟ้อจากสหรัฐฯ การประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารเฟด) ของธนาคารเฟดมีกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 20 มีนาคม และตัวเลขเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการอย่างแน่นอน นาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดได้กล่าวไม่นานมานี้ว่า ต้องการหลักฐานการยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวอย่างยั่งยืนก่อน จึงจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหลักฐานยืนยันดังกล่าวนั้นยังไม่ปรากฏให้เห็น สถิติที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า แทนที่ราคาจะลดลงกลับเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าอาหารและพลังงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% แต่จริงๆ แล้วนั้นเพิ่มขึ้น 0.4% เดือนต่อเดือน ดัชนีเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์แบบปีต่อปีเพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เล็กน้อยที่ 3.7% ดัชนี CPI โดยรวมแสดงให้เห็นว่าดัชนีเพิ่มขึ้น 0.4% ต่อเดือน และต่อปีที่ 3.2% ดังนั้น CPI โดยรวมจึงเพิ่มขึ้น 4.2% ปีต่อปีในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายนของปีก่อนหน้า แน่นอนว่าระดับเงินเฟ้อไม่ใช่สาเหตุให้ต้องวิตกกังวล แต่มันยังเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะเหนือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารเฟดได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
● เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม ปรากฏข้อสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับธนาคารเฟดให้อย่ารีบลดอัตราดอกเบี้ย โดยพบว่าอัตราเงินเฟ้อเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) นั้นเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 0.6% เดือนต่อเดือน จากการคาดการณ์ของตลาดที่ 0.3% ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และช่วยหนุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
● นอกเหนือจาก CPI และ PPI ยังมีข้อสนับสนุนที่สามให้ธนาคารเฟดคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวด คือ ตลาดแรงงานที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นในรอบสองปี (จาก 3.7% เป็น 3.9%) จำนวนตำแหน่งงานใหม่ที่สร้างขึ้นมานอกภาคการเกษตร (ดัชนี NonFarm Payrolls) แตะถึง 275K ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 229K และตัวเลขคาดการณ์ที่ 198K นอกจากนี้ อัตราค่าจ้างจริงยังคงเพิ่มขึ้นปีต่อปีในเดือนกุมภาพันธ์
● จากสถานการณ์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยูโรเผชิญกับแรงกดดันในสัปดาห์ที่แล้ว คำแถลงแบบสายพิราบปานกลางจากผู้บริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ในวันพฤหัสบดี Philip Lane หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารให้สัมภาษณ์กับ CNBC โดยกล่าวว่า ระดับค่าจ้างกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า หน่วยงานทางการเงินของอียูหลีกเลี่ยงที่จะให้การคาดการณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับท่าทีต่อไป และจะต้องทำการตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้ง
Peter Kazimir สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ ECB และประธานธนาคารแห่งชาติสโลวาเกีย มีความเห็นว่า ทางที่ดีควรจะรอจนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายนจนกว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก “การเร่งรีบเกินไปนั้นไม่ฉลาดและเสียเปรียบ” เขากล่าว “ความเสี่ยงเรื่องภาวะเงินเฟ้อยังคงมีอยู่และอยู่ดี จำเป็นต้องดูสถิติที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อ และเดือนมิถุนายนเท่านั้นที่เราจะเริ่มมีความมั่นใจในเรื่องนี้” “แต่การหารือเรื่องผ่อนคลายนโยบายควรเริ่มตอนนี้” กล่าวเสริมโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติสโลวาเกีย
Olli Rehn สมาชิกคณะกรรมการบริหาร ECB และผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติฟินแลนด์กล่าวในลักษณะที่คล้ายกัน เขายืนยันว่ามีการเริ่มต้นหารือเกี่ยวกับการลดความเข้มงวดในนโยบายทางการเงิน เมื่อสอบถามเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย เขาตอบอย่างระมัดระวังว่า “หากเงินเฟ้อยังคงลดลง จะมีความเป็นไปได้ที่จะค่อย ๆ เริ่มผ่อนเบรกนโยบายทางการเงินที่มีอยู่”
● ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมิชิแกนเบื้องต้น ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม แสดงให้เห็นว่าตัวเลขลดลงมาเล็กน้อยที่ 76.5 จากตัวเลขครั้งก่อนหน้า และมีการคาดการณ์อยู่ที่ 76.9 หลังจากนั้น EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ทำการที่ 1.0886 ในส่วนมุมมองในระยะใกล้ ณ ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม ผู้เชี่ยวชาญ 75% โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และราคาคู่นี้ลดลง โดย 15% อยู่ฝั่งยูโร และ 10% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนการวิเคราะห์ออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 แบ่งออกเป็นสามกลุ่มเท่า ๆ กันระหว่างสีแดง สีเทากลาง และสีเขียว ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์มีสัดส่วนอยู่ที่ 35% แนะนำว่าให้ขายคู่นี้ ในขณะที่อีก 65% แนะนำให้ซื้อ แนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่โซนช 1.0845-1.0865 ตามมาด้วย 1.0800 และจากนั้นคือ 1.0725, 1.0680-1.0695, 1.0620, 1.0495-1.0515 และ 1.0450 ส่วนโซนแนวต้านอยู่ที่ 1.0920, 1.0965-1.0980, 1.1015, 1.1050, 1.1100-1.1140 และ 1.1230-1.1275
● ในสัปดาห์ที่จะมาถึงนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค CPI) ของยูโรโซนจะประกาศในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประชุมของ ECB ได้ผ่านไปแล้ว ดัชนีนี้ไม่น่าจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงในตลาดได้ กิจกรรมหลักของสัปดาห์นี้จะเป็นการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟดในวันพุธที่ 20 มีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกันที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือ 5.50% ความสนใจหลักของนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนน่าจะอยู่ที่การแถลงข่าวที่ตามมาโดยผู้บริหารธนาคารเฟด ซึ่งมีความหวังว่าจะได้รับฟังท่าทีเกี่ยวกับวันที่จะเริ่มต้นผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ในเวลานี้ CME FedWatch รายงานว่ามีโอกาส 40% ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
นอกเหนือจากกิจกรรมเหล่านี้ จะมีชุดสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) จากหลายภาคเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เยอรมนี และยูโรโซนที่มีกำหนดจะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ที่น่าสนใจ ในวันเดียวกันนั้น จะมีการประกาศยอดขอรับสวัสดิการเบื้องต้นในสหรัฐฯ
GBP/USD: มีลบมากกว่าบวกสำหรับเงินปอนด์
● ในสัปดาห์ที่แล้ว ดอลลาร์ฟื้นตัวจากการขาดทุนที่เผชิญในช่วงสิบวันแรกของเดือนมีนาคม ในทางหนึ่ง GBP/USD เจอแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ และอีกด้านหนึ่งก็เจอแรงกดดันจากสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอจากสหราชอาณาจักร สถิติที่ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม ยืนยันว่าตลาดแรงงานของประเทศนั้นเริ่มสงบขึ้น ในเดือนมกราคม อัตราการจ้างงานลดลง 21K (จากการคาดการณ์ที่ 10K) และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 3.9% (คาดการณ์อยู่ที่ 3.8%) นอกจากนี้ จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 3.1K ในเดือนมกราคมเป็น 16.8K ในเดือนกุมภาพันธ์ ในระหว่างนี้ อัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานในสหราชอาณาจักรชะลอตัว ซึ่งเป็นอัตราการชะลอตัวที่ล่าช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2022
ทัศนคติในทางลบของผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อวันพุธที่ 13 มีนาคม โดยมีการเปิดเผยว่า แม้ GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมกราคม ดัชนีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมลดลงจาก +0.6% เหลือ -0.2% เดือนต่อเดือน และจาก +0.6% เหลือ +0.5% ปีต่อปี ตัวเลขในภาคการผลิตลดลงมากยิ่งกว่า จาก +0.8% ลงมาที่ 0.0% เดือนต่อเดือน และจาก +2.3% เหลือ +2.0% ปีต่อปี
สถิติทั้งหมดเหล่านี้ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) จะปรับมาใช้นโยบายทาการเงินสายพิราบในเร็ว ๆ นี้ บางคนประเมินว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หากสถิติจากสหราชอาณาจักรยังคงแย่ลง โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์จะลดลงในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้น และจะกดคู่ GBP/USD ให้ขยับลดลง
● "GBP/USD อาจลดลง ในสถานการณ์ที่สหราชอาณาจักรยังคงมีเศรษฐกิจที่ชะงักตัว และธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในที่สุด” นักวิเคราะห์จาก Societe Generale ธนาคารจากฝรั่งเศสเชื่ออย่างนั้น นักเศรษฐศาสตร์จาก Rabobank ธนาคารจากเนเธอร์แลนด์ก็เห็นศักยภาพว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมากเทียบกับเงินปอนด์อังกฤษในช่วง 1-3 เดือน อย่างไรก็ตาม Rabobank คาดการณ์ว่า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย สัญญาณการพัฒนาของภาพรวมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ประกอบกับแนวโน้มการเลือกตั้งในประเทศ และสถานการณ์การเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพอาจจะช่วยหนุนเงินปอนด์ได้ในระดับหนึ่ง “เราเชื่อว่า ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า GBP/USD อาจฟื้นตัวขึ้นมาที่บริเวณ 1.3000”
● ราคาคู่นี้ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2734 โดยความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อทิศทางในระยะใกล้นั้นแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) โหวตว่าราคาจะขยับลดลง 20% ขยับสูงขึ้น และ 15% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 40% ที่ชี้ไปยังทิศเหนือ มี 10% เท่านั้นที่ชี้ไปยังทิศใต้ และ 50% ชี้ออกด้านข้าง ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2695-1.2710, 1.2575-1.2610, 1.2500-1.2535, 1.2450, 1.2375 และ 1.2330 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบน แนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 1.2755, 1.2820, 1.2880-1.2900, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140
● นอกเหนือจากการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ในธนาคารเฟดแล้ว สัปดาห์ที่จะถึงนี้จะยังมีการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม หนึ่งวันก่อนหน้านั้น เราจะได้ทราบสถิติเงินเฟ้อ (CPI) ในสหราชอาณาจักร และไม่นานก่อนการประชุมของ BoE จะมีการประกาศสถิติเบื้องต้นของกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) และสัปดาห์นี้จะปิดท้ายด้วยการประกาศสถิติยอดค้าปลีกในสหราชอาณาจักรช
USD/JPY: ต้องคาดการณ์อะไรบ้างจากธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น
● ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ วันอังคารที่ 19 มีนาคม จะมีการประชุมของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์กันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ นักวิเคราะห์ที่ TD Securities ได้เปลี่ยนการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเงินเยนจากเดือนเมษายนเป็นเดือนมีนาคม “หลังจากการหารือเรื่องค่าจ้างที่เป็นบวก เราเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะได้รับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในสัปดาห์หน้านี้” นักวิเคราะห์กล่าวในรายงาน ผู้เชี่ยวชาญจาก TD Securities คาดว่า หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย การค่อย ๆ ทิ้งห่างจากนโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบ (NIRP) อาจดันคู่ USD/JPY ไปยัง 145.00 ได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม หาก BoJ ไม่ดำเนินการดังกล่าว แต่พยายามที่จะคงนโยบายสายเหยี่ยวไว้ โดยให้สัญญาณการกลับตัวของนโยบายในเดือนเมษายน ราคาคู่นี้ก็อาจขยับขึ้น แต่จะขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ 150.00
● นักวิเคราะห์ Rabobank ยังหารือเรื่องท่าทีที่เป็นไปได้ในคำแถลงของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น “หากธนาคารกลางญี่ปุ่นละทิ้งนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในวันที่ 19 มีนาคมนี้ จะมีแนวโน้มที่ธนาคารฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 หรือ 15 จุดพื้นฐาน (bps)” ผู้เชี่ยวชาญ Rabobank เชื่ออย่างนั้น “นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด แนวทางของธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้จะเป็นไปในทางบวกอย่างระมัดระวัง สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือ แม้ว่าหลังจากละทิ้งนโยบายดอกเบี้ยติดลบแล้ว แนวทางนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นน่าจะยังคงมีความผ่อนคลายอยู่” Rabobank ยังไม่ตัดโอกาสที่ท่าทีที่ระมัดระวังอย่างมากของธนาคารฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอาจจะยิ่งกระตุ้นความเสี่ยงให้เกิดปฏิกิริยา “ขายตามข้อเท็จจริง” ขึ้นได้หลังวันที่ 19 มีนาคมนี้ “อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ราคาจะขยับขึ้นได้ในระยะสั้น เรายังคงเห็นโอกาสที่ USD/JPY ปรับตัวลดลงมาที่ 146.00 ในระยะ 3 เดือน” กล่าวสรุปโดยนักเศรษฐศาสตร์ Rabobank
● นักยุทธศาสตร์ที่ Standard Chartered ให้ความเห็นที่คล้ายกัน พวกเขาคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยุตินโยบายที่ผ่อนคลายสุดโต่งนี้ในเดือนมีนาคมมากกว่าในเดือนเมษายน อย่างไรก็ดี พวกเขามองว่า การปรับนโยบายที่่คาดหวังไว้นี้ไม่น่าจะเป็นสัญญาณการเริ่มขึ้นของวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดัน การยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) จะไม่เปลี่ยนแปลงส่วนต่างของผลตอบแทนที่ติดลบกับของประเทศอื่น ๆ แต่โอกาสการสิ้นสุดลงของมาตรการการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทน (YCC) น่าจะเป็นผลดีในทางบวกต่อเงินเยน โดยเฉพาะหากธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ในสถานการณ์นี้ นักยุทธศาสตร์จาก Standard Chartered เชื่อว่า ภายในปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 USD/JPY จะขยับลงมาที่ 145.00
● นักเศรษฐศาสตร์จาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดจากเนเธอร์แลนด์ได้ย้ำหลายครั้งว่า การทะยานขึ้นอย่างยั่งยืนของเงินเยนนั้นขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงของธนาคารเฟดมากกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น “เรายังเชื่อว่า มันเป็นเรื่องยากที่เงินเยนจะแข็งค่าขึ้นอย่างยั่งยืนจนกว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะลดลง ซึ่งสิ่งนี้เป็นสถานการณ์พื้นฐานสำหรับปีนี้” พวกเขาเขียนระบุ
● นักวิเคราะห์จาก Societe Generale มีความเห็นในทางบวกอย่างยิ่งเกี่ยวกับเงินเยนญี่ปุ่นในการคาดการณ์ของพวกเขา พวกเขาเชื่อว่า เงินเยนเป็นสกุลเงิน G7 เดียวที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะถอยออกจากอัตราดอกเบี้ยติดลบและมาตรการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทนพันธบัตรในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ก็น่าจะเป็นแค่ท่าทีเชิงสัญลักษณ์ ยังคงมีความคาดหวังว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น เพราะปัจจุบันถือว่ามันมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรเป็น
● ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา USD/JPY ได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น โดยราคาขึ้นมาและปิดท้ายสัปดาห์ที่ 149.05 เมื่อมองไปยังอนาคต แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่หนุนฝั่งดอลลาร์ในคู่ EUR/USD และ GBP/USD สถานการณ์นั้นกลับกันสำหรับคู่เงินเยน 65% ของผู้เชี่ยวชาญมองว่าคู่นี้น่าจะเป็นแนวโน้มตลาดหมี ในขณะที่ 35% ยังไม่แสดงความเห็น ไม่มีเสียงไหนโหวตให้กับดอลลาร์ ด้านเครื่องมือการวิเคราะห์เชิงเทคนิคดูจะไม่ได้คำนึงถึงการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมมีออสซิลเลเตอร์เพียง 35% บนกรอบ D1 ที่เห็นด้วยกับฝั่งเงินเยน 25% เห็นด้วยกับฝั่งดอลลาร์ และ 40% มีความเห็นเป็นกลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าดอลลาร์เป็นฝ่ายได้เปรียบ 90% ให้สัญญาณสีเขียว และ 10% เท่านั้นที่ให้สีแดง ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 148.40, 147.60, 146.50, 145.90, 144.90-145.30, 143.40-143.75, 142.20, 140.25-140.60 ส่วนระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 150.00, 150.85, 151.55-152.00, 153.15
● นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นแล้ว ไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมที่สำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะประกาศในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นักเทรดควรคำนึงด้วยว่า วันพุธที่ 20 มีนาคมเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในญี่ปุ่น เนื่องในวันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)
สกุลเงินคริปโต: แล่นตามคลื่น FOMC ไปยังระดับสูงสุดใหม่
● FOMO (ความกลัวที่จะตกขบวนรถ หรือ Fear of Missing Out) กำลังเป็นความรู้สึกที่ปกคลุมตลาดอยู่ในขณะนี้ และขับเคลื่อนบิทคอยน์ไปยังระดับสูงสุดใหม่ อีกหนึ่งสถิติเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม เมื่อ BTC/USD แตะถึงระดับ $73,743
หลังจากกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์ได้รับการอนุมัติในสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปีนี้ ความต้องการในสินทรัพย์คริปโตก็เริ่มแซงหน้าอุปทานบิทคอยน์ที่ขุดได้โดยนักขุดเหรียญในแต่ละวัน Halving ที่คาดว่าจะมีผลในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนเมษายนจะยิ่งเพิ่มความขาดสมดุลให้เข้มข้นขึ้น ถึงแม้ว่าปัจจัยทั้งสองเหล่านี้ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญ การพูดคุยอย่างไม่จบสิ้นเริ่มทำให้ผู้เล่นในตลาดหลายคนเบื่อหน่าย ดังนั้น โฟกัสหลักจึงกลายมาอยู่ที่ประเด็นเศรษฐกิจโลก นโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมาถึงในสหรัฐฯ
● เริ่มต้นที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอะไรจะเกิดขึ้นหากผู้ชนะในศึกทำเนียบขาวเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำพรรครีพับคลิกัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เน้นย้ำถึงความสำคัญของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเปรียบการหันหลังให้กับมาตรฐานเงินดอลลาร์ว่าเหมือนกับการยอมแพ้ ในขณะเดียวกัน เขาได้กล่าวว่า เขาไม่ได้วางแผนที่จะขัดขวางการใช้บิทคอยน์หรือสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ หากเขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน “หากคุณคิดเกี่ยวกับมัน มันคือสกุลเงินในรูปแบบเพิ่มเติม” ทรัมป์กล่าว “บิทคอยน์เป็นที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย และผมไม่มั่นใจว่าผมจะยอมแพ้ต่อมันในเวลานี้” เขากล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่าเขาเองได้ลงทุนในคริปโตหรือไม่ อดีตประธานาธิบดี (หรืออาจเป็นว่าที่ปรระธานาธิบดี) ได้ปฏิเสธ
ในส่วนรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน นาย Pierre Rochard รองประธานด้านการวิจัยของ Riot ได้ทำผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เขาได้ประเมินงบประมาณของสหรัฐฯ ในปี 2025 ซึ่งนำเสนอโดยทีมของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นักวิจัยให้ข้อสรุปว่า พรรคเดโมแครตคาดว่า บิทคอยน์จะมีราคาแตะ $250,000 ภายในสิบปี 2034-2035 ซึ่งอนุมานได้จากภาษีที่อยู่ในงบประมาณของทำเนียบขาว อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่า ไม่มีข้อบ่งชี้โดยตรงถึงราคานี้ในงบประมาณ และข้อสรุปนั้นมาจากการประเมินศักยภาพกำไรจากภาษีและการกำกับดูแลในตลาดคริปโต
● เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ Balaji Srinivasan อดีตผู้บริหารด้านเทคโนโลยีของ Coinbase และหุ้นส่วนของบริษัท a16z ได้ประกาศว่า เรากำลังอยู่ในระยะช่วงปล้นสมบัติภายใต้อาณาจักรที่กำลังล่มสลายลง เขากล่าวว่า บิทคอยน์เป็นตัวช่วยให้รอดจากภาวะเงินเฟ้อและโอกาสการถูกยึดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ไม่ยั่งยืน เขาคำนวณไว้ว่า หนี้สหรัฐฯ ได้แตะถึงระดับ $34.5 ล้านล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นมา 25% จากปี 2020 และยังคงเพิ่มพูนเป็น $1 ล้านล้านเหรียญฯ ทุก 90 วัน รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินกว่าหมื่นล้านเหรียญฯ ต่อวันมากกว่าเงินที่ได้รับ จากข้อมูลดังกล่าว Srinivasan จึงไม่ตัดโอกาสที่เราอาจกำลังแตะถึง “การชำระบัญชีทางการเงิน” สำหรับพฤติกรรมดังกล่าว “รัฐที่ไม่รู้จักพอ” มักจะพิจารณาที่จะยึดทรัพย์สินจากภาคเอกชน
“ทรัพย์สินเอกชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐที่ล้มละลาย (พรรคเดโมแครต) อย่างอเมริกา บล็อกเชนใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของวอชิงตันนั้นมีความอ่อนไหว โชคดีที่เรามีทองคำดิจิทัลที่เป็นอิสระจากรัฐและไม่สามารถยึดได้ ผู้ที่ฝักใฝ่ในบิทคอยน์จะได้ชัยชนะ มันจะช่วยชีวิตเราจากงบประมาณของรัฐ” อดีตผู้บริหารของ Coinbase เชื่ออย่างนั้น แต่เขาเองก็หลีกเลี่ยงที่จะรบุว่า “การชำระบัญชี” ที่ว่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร เขาเตือนไว้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนเคยพูดถึงไว้แล้วก่อนหน้านี้ เช่น Ray Dalio, Elon Musk, Larry Fink และ Stanley Druckenmiller
● นักวิเคราะห์ที่ Matrixport มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับอนาคตของบิทคอยน์คล้ายกันกับ Balaji Srinivasan อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่า การวิเคราะห์เชิงความเสี่ยงและผลตอบแทนบ่งชี้ว่า ราคาเหรียญอาจมีการปรับตัวในเร็ว ๆ นี้ “ตลาดกระทิงนี้ยังคงมีขา” “แต่การเบี่ยงเบนระหว่าง RSI ที่ลดลง และราคา BTC ที่สูงขึ้นอาจเป็นสัญญาณว่า บิทคอยน์จำเป็นต้องแข็งตัวก่อนที่ราคาจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง”
Michael Van De Poppe นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง MN Trading เชื่อว่า การปรับฐานตลาดที่ 20-30% นั้นค่อนข้างเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เขาคาดหวังหลายอย่างจากอัลท์คอยน์ ซึ่งยังไม่แตะระดับสถิติ
● Raoul Pal ผู้ก่อตั้งบริษัทเพื่อการลงทุน Real Vision ได้คาดการณ์เป้าหมายที่ BTC, ETH และ SOL อาจแตะถึงในอนาคตอันใกล้ เขาแนะนำว่า ระดับเป้าหมายของบิทคอยน์ในระยะใกล้คือ $250,000 ต่อเหรียญ นอกจากนี้ บิทคอยน์อาจไปเกินระดับที่คาดการณ์เนื่องด้วยอุปสงค์ที่สูงสำหรับกองทุน ETFs บิทคอยน์ Halving ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ยังคาดว่าจะกระตุ้นอุปสงค์สำหรับบิทคอยน์
Raoul Pal ยังคาดการณ์แนวโน้มกระทิงสำหรับ Ethereum โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าอาจขึ้นไปถึงระหว่าง $17,000 และ $20,000 เนื่องด้วยการใช้งานสมาร์ทคอนแทรค ปัจจุบัน ETH ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $4,000 แต่แตกต่างไปจากบิทคอยน์ ตรงที่มันยังไปไม่เกินระดับสถิติที่เคยทำไว้ ในเดือนพฤศจิกายน 2021 Ethereum แตะระดับที่ $4,856 โดยผู้ก่อตั้ง Real Vision เชื่อว่า การเติบโตของอัลท์คอยน์นี้อาจได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับบิทคอยน์ ความคาดหวังต่อกองทุน ETH ETFs และการอัปเดต Dencun
Pal คาดการณ์ว่า ราคา Solana อาจอยู่ที่ระหว่าง $700 ถึง $1,000 เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงของบล็อกเชน จะยิ่งเพิ่มอุปสงค์สำหรับเหรียญนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 SOL ได้แตะระดับสูงสุดที่ $260 ซึ่งบ่งชี้ว่าเหรียญนี้ยังมีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก
● ในสัปดาห์ที่แล้ว ความสนใจหลักนั้นอยู่ที่นักขุดเหรียญ ไม่ใช่แค่รายบุคคล แต่เป็นบทบาทของนักขุดเหรียญกับเศรษฐกิจอเมริกา Bill Ackman ซีอีโอของ Pershing Square Capital เรียกการขุดเหรียญบิทคอยน์ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของภาวะเงินเฟ้อและดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง “การทะยานขึ้นของราคาบิทคอยน์ทำให้มีการขุดเหรียญและการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ราคาทรัพยากรพลังงานสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น และดอลลาร์อ่อนค่าลง สิ่งนี้ช่วยกระตุ้นอุปสงค์สำหรับบิทคอยน์ การขุดเหรียญ และการใช้พลังงาน วัฎจักรดังกล่าวดำเนินต่อไป บิทคอยน์ไปสู่ภาวะไม่มีที่สิ้นสุด ราคาพลังงานจะพุ่งสูงลิ่ว และเศรษฐกิจจะล่มสลายลง” เศรษฐีพันล้านท่านนี้อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่าความสัมพันธ์นี้ “จะทำงานในทั้งสองทาง”
มุมมองที่ตรงกันข้ามนั้นเป็นของนาย Pierre Rochard จาก Riot เขาเชื่อว่า อุตสาหกรรมการขุดเหรียญในสหรัฐฯ อาจเผชิญกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องด้วยพัฒนาการในตลาดสหรัฐฯ และพลังงานไฟฟ้าที่ล้นตลาด จนนำไปสู่อุตสาหกรรมนี้ที่น่าจะเติบโตได้ถึงสิบเท่า โดยการคาดการณ์ของเขานั้นไม่เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจจะล่มลงและจะนำไปสู่ราคาพลังงานที่สูงลิ่ว
เวลาจะบอกเองว่าผู้เชี่ยวชาญท่านไหนที่ทำนายได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Bernstein ชี้ว่า หุ้นบริษัทขุดเหรียญยังคงเป็นการลงทุนแทนบิทคอยน์ที่ดีที่สุด เพราะเหรียญนี้กำลังเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ $150,000 ในรายงานต่อลูกค้า พวกเขาระบุว่า ราคาหุ้นของบริษัทที่ขุดเหรียญทำผลงานได้ดีกว่าบิทคอยน์ในแง่ของอัตราการเติบโตในตลาดกระทิงเกือบเสมอ เนื่องจากเรากำลังอยู่ในช่วงกลางของวัฎจักรปัจจุบัน ทุก “หน้าต่างที่อ่อนแอ” นั้นเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ
Bernstein เสริมว่า ภาคธุรกิจนี้กำลังถูกปกคลุมโดยนักลงทุนรายย่อย ในขณะที่นักลงทุนรายสถาบันส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการลงทุน “ในบิทคอยน์ผ่านตัวแทน” เนื่องด้วยข้อกังขาต่อสกุลเงินคริปโตที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสินทรัพย์ขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ นักวิเคราะห์คาดว่าความสนใจของนักลงทุนในหุ้นบริษัทขุดเหรียญจะเริ่มมีความตื่นตัว พวกเขาจึงจะเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักของกระแสเงินที่ไหลเข้ามา
● ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ บิทคอยน์ได้แซงหน้ารูเบิลรัสเซียในแง่ของมูลค่ารวมตามราคาตลาด และขึ้นครองอันดับที่ 14 ในการจัดอันดับสกุลเงินที่มีค่ามากที่สุด ไม่กี่วันถัดมา วันที่ 11 มีนาคม 2024 บิทคอยน์ก้าวกระโดดอีกครั้ง โดยขยับขึ้น $72,000 ต่อเหรียญ โดยแซงหน้าซิลเวอร์ในมูลค่าตามราคาตลาด บิทคอยน์ขยับขึ้นอันดับที่แปดในการจัดอันดับสกุลเงินที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด และขึ้นผ่านระดับ $1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม หลังจากนักเทรดเก็บกำไร BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่บริเวร $68,200 มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $2.58 ล้านล้านเหรียญฯ ($2.6 ล้านล้านเหรียญฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาจาก 81 ถึง 83 จุด และอยู่ในโซนความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) ทั้งนี้ ระดับสูงสุดสำหรับดัชนีนี้อยู่ที่ 95 จุดในช่วงตลาดกระทิงในปลายปี 2020)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ