บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2024

EUR/USD: สวิตเซอร์แลนด์ช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

● เหตุการณ์สำคัญหลักของสัปดาห์ที่ผ่านมาแน่นอนว่าเป็นการประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน) ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม และเป็นไปอย่างที่คาดไว้ ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 5.50% เป็นครั้งที่ห้าติดต่อกัน เนื่องจากมีการคาดการณ์ดังกล่าวไว้อยู่แล้ว ผู้เล่นในตลาดจึงมีความสนใจกับการแถลงความเห็นและการคาดการณ์ของผู้บริหารธนาคารเฟดมากกว่า คำแถลงที่สำคัญที่สุดนั้นมาจากนาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟด โดยคำแถลงที่สำคัญที่สุดมาจากประธานเฟด ผู้กล่าวถึงการพิจารณาการลดอัตราดอกเบี้ยสามระยะในปีนี้ รวมทั้งหมด 75 จุดพื้นฐาน (bps) โดยมีการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่ถูกปรับขึ้นจาก 2.50% เป็น 2.60%

ในการแถลงความเห็นหลังการประชุม มีการตั้งข้อสังเกตถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง การคาดการณ์ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.4% เป็น 2.1% และในปี 2025 จาก 1.8% เป็น 2.0% ตลาดแรงงานปรากฏว่ามีสุขภาพแข็งแกร่งเช่นกัน โดยมีอัตราการว่างงานในระดับต่ำ การคาดการณ์ใหม่ชี้ว่า อัตราว่างงานอาจไปถึง 4.0% เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 4.1% จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NonFarm Payrolls) ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 275K ซึ่งสูงกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 229K และการคาดการณ์ที่ 198K

● ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายตัว แต่ยังคง “ลอยตัว” ในคำแถลง ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเดือนกุมภาพันธ์แสดงตัวเลขเพิ่มขึ้น 3.2% ปีต่อปี อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะหยุดอยู่ที่ 2.4% ภายในสิ้นปี 2024 โดยมีดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (PCE) คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% ก่อนหน้านี้ ตัวเลขทั้งสองมีการคาดการณ์อยู่ที่ 2.4% ในเดือนธันวาคม

การแถลงความเห็นเน้นย้ำว่า วัตถุประสงค์ระยะยาวคือ การกดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือ 2.0% ในขณะเดียวกันต้องทำระดับการจ้างงานให้สูงสุด ดังนั้น ธนาคารเฟดจะยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ การปรับหลักเกณฑ์นโยบายทางการเงินอาจเกิดขึ้นหากมีปัจจัยปรากฏขึ้นที่ขัดขวางกับเป้าหมายนี้ ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสถานการณ์ตลาดแรงงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ

อย่างที่กล่าวไว้แล้ว สถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับปี 2024 ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยสามครั้ง ครั้งละ 25 จุด อย่างไรก็ตาม สมาชิกของ FOMC ยังไม่ได้ปรับลดความเป็นไปได้ที่จะเหลือการลดอัตราดอกเบี้ยแค่สองหรือหนึ่งครั้งเท่านั้น ผลสำรวจจาก Reuters พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 72 จาก 108 คน หรือ 2 ใน 3 คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน โดยครั้งถัดมาคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

● ตลาดหุ้นตอบสนองในทางบวกต่อผลการประชุมของธนาคารเฟด ดัชนี S&P 500, Dow Jones, และ Nasdaq ขยับสูงขึ้น การตอบสนองนี้ไม่ปรากฏในดัชนีดอลลาร์ (DXY) เนื่องจากข่าวเรื่องการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินไม่ทำให้นักลงทุนประทับใจนัก EUR/USD จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ดอลลาร์ฟื้นตัวจากที่ขาดทุนไปหลังจากธนาคารกลางสวิส (SNB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐานเหลือ 1.5% อย่างที่ไม่คาดคิดในการประชุมรายไตรมาส ซึ่งตรงกันข้ามกับความคาดหวังของตลาดให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75%

“การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินนั้นทำได้เพราะการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา” “ภาวะเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 2% มาเป็นเวลาหลายเดือนและอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเสถียรภาพของราคา ตามการคาดการณ์ล่าสุด คาดว่าระดับเงินเฟ้อจะคงอยู่ในกรอบนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” ตามรายงานของธนาคารกลางสวิส

"ดังนั้น SNB จึงได้กลายเป็นธนาคารกลางแห่งใหญ่แห่งแรกที่เริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินหลังจากผ่านวัฎจักรขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างยาวนานเนื่องด้วยภาวะโรคโควิดระบาด นักเทรดจึง “ลืม” เกี่ยวกับสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดไป และเริ่มเข้าซื้อดอลลาร์ เพราะขณะนี้เป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงเดียวที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ

● การสนับสนุนเงินดอลลาร์จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ยังมีผลมาจากสถิติกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ดัชนี S&P Global Composite PMI index ปรับขึ้นมาเป็น 52.5 จาก 52.2 และแม้ว่าดัชนี PMI ของภาคบริการจะลดลงจาก 52.3 เหลือ 51.7 ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 ซึ่งแบ่งแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากการหดตัว ในระหว่างนี้ ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตของฟิลาเดลเฟียนั้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ โดยอยู่ที่ 3.2 และจำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์นั้นลดลงจาก 215K เหลือ 210K

EUR/USD ได้ปิดท้ายสัปดาห์ห้าวันทำการที่ระดับ 1.0808 ในส่วนการคาดการณ์อนาคตอันใกล้ ณ ขณะที่เขียนรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม ผู้เชี่ยวชาญ 50% โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและคู่นี้ขยับลดลงต่อ โดยมี 20% ที่เห็นด้วยกับเงินยูโร และ 30% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 15% เท่านั้นที่ให้สัญญาณสีเขียว 85% ให้สีแดง โดยมีหนึ่งในสี่ที่ชี้ว่าราคาอยู่ในภาวะ oversold ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ สีเขียวมีจำนวน 10% ในขณะที่สีแดงเป็นส่วนข้างมากคือ 90% ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่โซน 1.0795-1.0800 ตามมาด้วย 1.0725, 1.0680-1.0695, 1.0620, 1.0495-1.0515 และ 1.0450 โซนแนวต้านอยู่ที่บริเวณ 1.0835-1.0865, 1.0900-1.0920, 1.0965-1.0980, 1.1015, 1.1050 และ 1.1100-1.1140

● สัปดาห์การเทรดที่จะมาถึงนั้นจะสั้นกว่าปกติเนื่องด้วยวันศุกร์ประเสิรฐ (Good Friday) ในประเทศคาธอลิก ซึ่งธนาคารและตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งจะปิดทำการ และยังเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนและไตรมาสแรกด้วย ผู้เล่นในตลาดจะสรุปส่งท้ายไตรมาส และจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญบางชุด อย่างไรก็ดี กิจกรรมที่น่าสนใจในปฏิทินจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม ซึ่งเป็นการประกาศดัชนีค้าปลีกในเยอรมนี ตลอดจนสถิติที่ปรับปรุงแล้วของ GDP สหรัฐฯ และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้น ส่วนในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม แม้ว่าจะเป็นวันหยุด แต่จะมีการประกาศสถิติตลาดผู้บริโภคในสหรัฐฯ และนาย Jerome Powell ประธานเฟดมีกำหนดที่จะกล่าวแถลง

 

GBP/USD: ฝูงเหยี่ยวของ BoE แปลงร่างเป็นพิราบ

● สถิติเงินเฟ้อผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร ซึ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม หนึ่งวันก่อนการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) แสดงถึงการชะลอตัวเล็กน้อยและต่ำกว่าการคาดการณ์เล็กน้อย ดัชนี CPI ปีต่อปีชะลอตัวจาก 4.0% เหลือ 3.4% จากที่คาดการณ์ไว้คือ 3.5% ดัชนี Core CPI ของเดือนกุมภาพันธ์รายปีร่วงลงมาที่ 4.5% หลังจากตัวเลขเสถียรเป็นเวลาสามเดือนที่ 5.1% ในทางกลับกัน ดัชนี CPI เพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือนที่ 0.6% หลัังจากลดลงมาในระดับเท่ากันในเดือนมกราคม แต่แนวโน้มที่ขึ้นมาดังกล่าวยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 0.7% ดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 0.4% และต่ำกว่าตัวเลขปีต่อปีที่ 2.7% จึงกลับมายังระดับเดิมเหมือนในเดือนพฤษภาคม 2022 เนื่องด้วยราคาสินค้าพลังงาน โลหะ และผลิตภัณฑ์การเกษตรบางอย่างที่ลดลง

เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุมของธนาคารเฟด ได้มีการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจเบื้องต้น ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก แต่ก็เป็นผลลัพธ์ที่มองได้หลายทาง ดัชนี PMI ภาคการผลิตขึ้นมาที่ 49.9 ใกล้ระดับสำคัญที่ 50.0 (การคาดการณ์อยู่ที่ 47.8 และตัวเลขครั้งก่อนหน้าคือ 47.5) ดัชนีภาคบริการกลับลดลงมาจาก 53.8 เหลือ 53.4 แม้ว่าจะคาดหวังว่าดัชนีจะคงตัว ดังนั้น ดัชนี Composite PMI จึงลดลงมาจาก 53.0 เหลือ 52.9 โดยคงตัวอยู่ภายในโซนการเติบโตของเศรษฐกิจ

● ในส่วนการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ธนาคารฯ คงอัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์ไว้ที่ระดับเดิมคือ 5.25% เป็นครั้งที่ห้าติดต่อกัน นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษกล่าวว่า เศรษฐกิจยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องลดอัตราดอกเบี้ย แต่กล่าวเสริมด้วยว่า ทุกอย่างกำลังไปใน “ทิศทางที่ถูกต้อง”  

● เซอร์ไพรส์เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกสองท่านในคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของ BoE ซึ่งก่อนหน้านี้เคยโหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย กลับเปลี่ยนท่าที จึงนำไปสู่การแห่เทขายเงินปอนด์อีกครั้ง นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร MUFG ของญี่ปุ่นชี้ว่า ผลลัพธ์การลงคะแนน “ยืนยันความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดคิด ธนาคารกลางอังกฤษจะทำการตัดสินใจสุดท้ายในเดือนมิถุนายนหรือสิงหาคมยังคงเป็นคำถามปลายเปิด เรายังคงมีความเห็นว่าน่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 100 จุดในปีนี้” “เงินปอนด์อาจต้องเผชิญกับแรงขายต่อไปในระยะสั้น หากตลาดตัดสินว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะถูกลดในเดือนมิถุนายน ประกอบกับศักยภาพของขนาดดอกเบี้ยที่จะลดลงในปีนี้” ผู้เชี่ยวชาญ MUFG กล่าวเสริม

● "จริงอยู่ที่ธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้เริ่มอีกก้าวหนึ่งไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ย” ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญธนาคาร Commerzbank ของเยอรมนี “แต่มันจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดคิดหรือไม่นั้นยังไม่มีความชัดเจน เพราะไม่มีผู้กำหนดนโยบายท่านไหนที่โหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย” Commerzbank เชื่อว่า “ท่ามกลางสถานการณ์นโยบายสายพิราบโดยรวมท่กระตุ้นโดยการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่คาดคิดของ SNB เงินปอนด์ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและกลายเป็นสกุลเงินที่ย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับสอง ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับอารมณ์ตลาด และยังมีโอกาสที่เงินปอนด์จะกลายเป็นสกุลเงินที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดได้”

GBP/USD เริ่มต้นสัปดาห์ที่ระดับ 1.2734 และปิดท้ายที่ 1.2599 ความเห็นของนักวิเคราะห์ในระยะสั้นนั้นแตกต่างกันไป ครึ่งหนึ่ง (50% โหวตให้ราคาลดลง 25% โหวตให้ราคาขยับขึ้น และ 25% ยังคงความเป็นกลาง ผลลัพธ์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 นั้นออกมาเหมือนกันกับคู่ EUR/USD ในส่วนออสซิลเลเตอร์ มี 15% เท่านั้นที่ชี้ไปยังทิศเหนือ 85% ไปยังทิศใต้ โดยมีหนึ่งในสี่ที่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในภาวะ oversold แล้ว ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 10% ที่แนะนำให้ซื้อ และ 90% แนะนำให้ขาย ในกรณีที่ราคาขยับลงทิศใต้ จะต้องเจอกับโซนและแนวรับที่ 1.2575, 1.2500-1.2535, 1.2450, 1.2375, 1.2330, 1.2085-1.2210, 1.2110, 1.2035-1.2070 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบน แนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 1.2635, 1.2730-1.2755, 1.2800-1.2820, 1.2880-1.2900, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140

● ไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมที่สำคัญทางเศรษฐกิจใด ๆ ในสหราชอาณาจักรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นักเทรดควรตระหนักว่าในวันที่ 29 มีนาคมนั้นเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในประเทศเนื่องในวันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday)

 

USD/JPY: BoK กดเงินเยนอย่างไร

● ในทางทฤษฎีนั้น หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ค่าเงินก็จะแข็งค่าขึ้น แต่นี่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ความเป็นจริงอาจแตกต่างออกไปได้มากอย่างที่เห็นได้ในการประชุมของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) เมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ในตอนนั้น BoJ เป็นธนาคารกลางแห่งเดียวในโลกที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับติดลบที่ -0.1% มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2016 ครั้งนี้เป็นครั้งแรในรอบ 17 ปีที่ธนาคารฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.0-0.1% ต่อปี อีกทั้งยังล้มเลิกการควบคุมผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปี (YCC) ด้วย รายงานระบุว่า ท่าทีดังกล่าว “แสดงถึงการลาจากจากนโยบายทางการเงินที่ก้าวร้าวที่สุดที่เราได้เห็นมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่” แต่หลังจากการตัดสินใจดังกล่าว แทนที่เงินเยนจะแข็งค่าขึ้น เงินเยนกลับ…ร่วงลง และ USD/JPY ขึ้นทำระดับสูงสุดที่ 151.85 นักวิเคราะห์เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะการดำเนินการของธนาคารกลางแต่ละแห่งนั้นเป็นไปตามความคาดหวังของตลาดและมีการเก็งไว้ในราคาอยู่แล้ว

● สถิติเงินเฟ้อในญี่ปุ่นของเดือนกุมภาพันธ์ได้ประกาศออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ โดยให้การสนับสนุนค่าเงินญี่ปุ่นอยู่บ้าง สำนักงานสถิติญี่ปุ่นรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายปีของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.8% จากก่อนหน้านี้ที่ 2.2% นักลงทุนจึงสรุปว่า แรงกดดันของราคาที่ยืดเยื้อเหนือระดับเป้าหมายที่ 2.0% จะพออนุญาตให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยในระดับบวกได้บ้าง

อย่างไรก็ดี การคงอัตราดอกเบี้ยไม่ได้แปลว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ย และนักเศรษฐศาสตร์จาก ING ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เขียนระบุว่า จุดยืนของเงินเยนนั้นขึ้นอยู่กับการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดมากกว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดย BoJ พวกเขากล่าวว่า “มันจะเป็นเรื่องยากสำหรับเงินเยนที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างยั่งยืนนอกเหนือไปจากความผันผวนของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะถูกปรับลดลง”

● เงินเยนได้รับแรงสนับสนุนอีกด้านหนึ่ง แต่ค่อนข้างบางเบาจากความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน นาย Shunichi Suzuki รัฐมนตรีการคลังของญี่ปุ่นเคยประกาศไว้ว่าการเคลื่อนที่ของค่าเงินควรมีเสถียรภาพและเขากำลังติดตามการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ได้ช่วยพยุงค่าเงินได้มากเท่าไรนัก และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ปิดท้ายด้วยราคาทำระดับที่ 151.43

● ในส่วนอนาคตอันใกล้ของ USD/JPY ค่ายตลาดหมีของคู่นี้อยู่ที่ 50% ส่วน 40% ยังคงไม่ตัดสินใจ และ 10% โหวตว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อไป ด้านเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคดูเหมือนจะไม่ได้สนใจข่าวลือเกี่ยวกับโอกาสการแทรกแซงค่าเงิน โดยอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ชี้ไปทางทิศเหนือ โดยกลุ่มหลัง 20% ชี้ว่าราคาอยู่ในภาวะ overbought ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 150.85, 149.70, 148.40, 147.30-147.60, 146.50, 145.90, 144.90-145.30, 143.40-143.75, 142.20 และ 140.25-140.60 ด้านระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 151.85-152.00, 153.15 และ 156.25

● ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของพื้นที่โตเกียวจะประกาศออกมาให้ทราบ นอกจากนั้นไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมที่สำคัญอื่นใดเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้น

 

สกุลเงินคริปโต: Bitcoin – ความนิ่งสงบก่อน Halving

● หลังจากบิทคอยน์ขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ที่ $73,743 เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา คลื่นการเทขายและเก็บกำไรจากนักเก็งกำไรระยะสั้นก็เกิดขึ้นตามมา BTC/USD ขยับลดลงอย่างรวดเร็ว ติดลบประมาณ 17.5% ทำระดับต่ำสุดในกรอบอยู่ที่ $60,778 หลังจากนั้น บิทคอยน์ก็กลับมามีโมเมนตัมอีกครั้งเพื่อหวังรอ Halving ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ Halving คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นประมาณทุก ๆ สี่ปีเมื่อมีการขุดเหรียญครบ 210,000 บล็อก และผลตอบแทนของการขุดบล็อกใหม่ในบล็อกเชนบิทคอยน์จะถูกลดลงครึ่งหนึ่ง ธรรมชาติเช่นนี้หยิบยกคำถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องทำแบบนั้น? Halving ได้รับการออกแบบมาเป็นกลไกในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ เมื่อผลตอบแทนของนักขุดเหรียญลดลง จะมีการออกเหรียญใหม่ได้น้อยลงในแต่ละรอบ ซึ่งมีไว้เพื่อเป้าหมายในการคงความหายากของบิทคอยน์ในตลาดและผลในทางบวกต่อราคาเหรียญจากมุมมองอุปสงค์และอุปทาน

การออกเหรียญบิทคอยน์ทั้งหมดกำหนดไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ ณ เดือนธันวาคม 2023 นักขุดเหรียญได้สกัดเหรียญออกมาแล้ว 19.5 ล้านเหรียญ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 93% ของปริมาณทั้งหมด Halvings จะมีผลต่อไปจนกว่าบิทคอยน์เหรียญสุดท้ายจะถูกขุด ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงปี 2040 และ 2048 ในปี 2040 (การ Halving ครั้งที่ 8) ผลตอบแทนของนักขุดเหรียญจะอยู่ที่ 0.1953125 BTC และในปี 2048 (ครั้งที่ 10) – 0.048828125 BTC หลังจากนั้น นักขุดเหรียญจะได้รายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมอย่างเดียวเท่านั้น Halving ครั้งที่สี่ที่จะมีขึ้นนี้น่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 เมษายนในปีนี้ โดยผลตอบแทนของการขุดบล็อกลดลงจาก 6.25 BTC เหลือ 3.125 BTC

● เนื่องด้วยกระแสกองทุน ETFs บิทคอยน์สปอต และ FOMO (ความกลัวว่าจะตกรถ หรือ Fear of Missing Out) ในความคาดหวังต่อ Halving เราเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่าบิทคอยน์เริ่มมีความหายากในระดับหนึ่ง ตามรายงานของ Bitcointreasuries บิทคอยน์จำนวนมากเป็นขององค์กรต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาลและบริษัทเพื่อการลงทุนของเอกชน แพลตฟอร์มซื้อขาย และกองทุนการลงทุน ทั้งหมดนี้นั้นถือบิทคอยน์ประมาณ 12% ของปริมาณบิทคอยน์ทั้งหมด โดยมี 10% ที่เก็บอยู่ในแพลตฟอร์มคริปโตที่มีศูนย์กลาง และอีก 8.09% เป็นของบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหวมาเป็นเวลาหลายปี เมื่อนับรวมตัวเลขเหล่านี้กับส่วนของบิทคอยน์ของ Satoshi Nakamoto ผู้ก่อตั้งบิทคอยน์ (4.76%) สามารถสรุปได้ว่า 35% ของ BTC ที่ขุดได้นั้นไม่มีให้สำหรับนักลงทุนเอกชนอื่น ๆ

กองทุน Grayscale Bitcoin Trust, iShares Bitcoin Trust และ Fidelity Wise Origin Bitcoin Fund นำตลาดคริปโตในแง่ของปริมาณบิทคอยน์ โดยเป็นเจ้าของบิทคอยน์ทั้งหมด 380,241 BTC, 230,617 BTC, และ 132,571 BTC ตามลำดับ

ในส่วนบริษัทมหาชน MicroStrategy ปรากฏว่าเป็นผู้ถือบิทคอยน์รายใหญ่ที่สุด โดยมีบิทคอยน์ในรายงานทั้งหมด 205,000 BTC ด้าน Marathon Digital ถือบิทคอยน์เป็นอัดับที่สองที่ 15,741 BTC ตามด้วย Tesla และ Coinbase Global เป็นอันดับสามและสี่ โดยมี 9,720 BTC และ 9,480 BTC ตามลำดับ

ในส่วนบริษัทเอกชน มีรายงานว่า Block.one เป็นผู้นำในระดับการเป็นเจ้าของที่ 164,000 BTC ตามมาด้วยแพลตฟอร์ม MTGOX ที่มีบิทคอยน์ 141,686 BTC ด้าน Tether ผู้ออกเหรียญ stablecoin เป็นเจ้าของ 66,465 BTC อันดับที่สี่นั้นเป็นของแพลตฟอร์ม BitMEX ที่ 57,672 BTC

ในการจัดอันดับประเทศที่เป็นเจ้าของบิทคอยน์ สหรัฐฯ ขึ้นนำด้วย 215,000 BTC ตามมาด้วยจีนที่ 190,000 BTC สหราชอาณาจักรที่ 61,000 BTC และเยอรมนีที่ 50,000 BTC

● นักวิเคราะห์ที่ Standard Chartered ได้ปรับเป้าหมายราคาบิทคอยน์ในปลายปี 2024 จาก $100,000 เป็น $150,000 โดย Ethereum มีศักยภาพที่จะขึ้นไปถึง $8,000 ในช่วงเวลาเดียวกัน ในปลายปี 2025 สกุลเงินคริปโตอันดับหนึ่งและสองอาจทำราคาขึ้นไปที่ $200,000 และ $14,000 ตามลำดับ

การเปลี่ยนแปลงในความคาดหวังนั้นขับเคลื่อนจากความตื่นเต้นเรื่องกองทุน ETFs สปอตบิทคอยน์ และราคาที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์นับตั้งแต่เดือนมกราคม นักวิเคราะห์ให้เหตุผลรองรับโดยอ้างอิงราคาทองคำหลังจากการอนุมัติกองทุน ETFs และการปรับอัตราส่วนของทองคำต่อทองคำดิจิทัลที่ 80% ต่อ 20%

ผู้เชี่ยวชาญจาก Standard Chartered กล่าวว่า หากมูลค่าเงินที่ไหลเข้า ETFs แตะถึง $75 พันล้านเหรียญฯ บิทคอยน์อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ขึ้นเป็น $250,000 การดำเนินการของกองทุนความมั่งคั่งของชาติก็อาจจะช่วยเร่งอัตราการเติบโตได้เช่นกัน “เราเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นที่ผู้จัดการกองทุนใหญ่ ๆ เริ่มประกาศเข้าซื้อบิทคอยน์ในปี 2024” กล่าวโดยนักวิเคราะห์

● Dan Tapiero ซีอีโอบริษัทเพื่อการลงทุน 10T Holdings ได้ประกาศตัวเลขที่ $200,000 เช่นกัน “ผมไม่คิดว่ามันบ้านะ” เขาคำนวณไว้ว่าง ราคามีศักยภาพที่จะเพิ่มขึ้นสามเท่าจากราคาปัจจุบัน ซึ่งจะสอดคล้องกับเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างระหว่างราคาสูงสุดในปี 2017 และ 2021 อีกทั้ง จากราคาต่ำสุดของตลาดหมีถึงราคาสูงสุดในปี 2021 ราคาทองคำดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า แปลว่า ระดับที่ $300,000 เป็นสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในทางบวก

“มันเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดจุดและจังหวะเวลาที่ชัดเจน ผมคิดว่าเราจะแตะถึงโซนนี้ภายในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า หรืออาจเร็วกว่านั้น” Tapiero เชื่ออย่างนั้น “ปริมาณที่ลดลงในช่วงที่มีความต้องการใน ETFs เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ Halving ที่จะเกิดขึ้นแปลว่ามีศักยภาพการเติบโตที่สูง ผมคิดว่าบิทคอยน์จะดึงทุกอย่างขึ้นไปด้วย”

ซีอีโอของ 10T Holdings ยังได้ให้ข้อสังเกตถึง “โอกาสที่ดี” ที่จะมีการอนุมัติกองทุน Ethereum อย่างไรก็ตาม เขายังบอกไม่ได้ว่า ETFs เหล่านี้จะจดทะเบียนในเดือนพฤษภาคมหรือจะเกิดขึ้นในภายหลัง

● เอไอ ChatGPT ของ OpenAI ตอบคำถามว่า ราคา BTC จะแตะ $100,000 เมื่อเข้าสู่เหตุการณ์ Halving การคำนวณของ AI ชี้ว่า การปรับฐานในตอนนี้นั้นไม่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโต และยิ่งยืนยันความไม่แม่นยำของการคาดการณ์ในระยะสั้น ChatGPT คาดการณ์โอกาสความเป็นไปได้ที่ราคาจะไปถึง $100,000 อยู่ที่ 40% ในขณะที่โอกาสที่ราคาจะแตะ $85,000 ประเมินอยู่ที่ 60%

● ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม BTC/USD เทรดอยู่ที่ประมาณ $63,000 มูลค่ารวมของตลาดคริปโตลดลงจาก $2.39 ล้านล้านฯ (จาก $2.58 ล้านล้านเหรียญฯ) เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ลดลงจาก 83 เหลือ 75 จุด โดยขยับจากโซน Extreme Greed ไปยังโซน Greed

● แม้ว่าแนวโน้มบิทคอยน์จะชะลอตัวลงล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญบางท่านไม่ตัดโอกาสที่ BTC/USD อาจร่วงลงต่อ เช่น Kris Marszalek, ซีอีโอของ Crypto.com เชื่อว่า ความผันผวนในปัจจุบันของ BTC ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับวัฎจักรก่อนหน้านี้ ซึ่งหมายความว่า ในช่วงที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น ราคามีโอกาสที่จะทั้งทำระดับสูงสุดใหม่ และระดับต่ำสุดใหม่เช่นกัน

 นักวิเคราะห์จาก JPMorgan เชื่อว่าบิทคอยน์อาจลดฮวบลงมา 33% หลังเหตุการณ์นี้ ในขณะเดียวกัน Michael Novogratz ซีอีโอของ Galaxy Digital มั่นใจว่า จุดสุดท้ายอยู่ที่ $50,000 และราคาเหรียญนี้จะไม่มีวันตกลงไปต่ำกว่านี้ ยกเว้นว่าจะเกิดอะไรที่รุนแรงขึ้น เขามองว่า การเติบโตของบิทคอยน์นั้นได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการที่ไม่หยุดหย่อนของนักลงทุน มากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างเช่น นโยบายของธนาคารเฟด ซึ่งเห็นได้จากการที่บิทคอยน์แทบจะไม่ได้ตอบสนองอะไรต่อการประชุมของธนาคารเฟดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา